Ad Code

Ticker

10/recent/ticker-posts

ดาวหาง Siding Spring ขนาด 0.8 - 8 กิโลเมตร จะเฉียดดาวอังคารวันพรุ่งนี้ (19 ตุลาคม 2014)

สวัสดีครับ



NASA แจ้งว่าวันพรุ่งนี้ (19 ตุลาคม 2014)  ดาวหางขนาดยักษ์จะโคจรเฉียดดาวอังคารในระยะประมาณ 87,000 ไมล์ (139,500 กิโลเมตร) หรือประมาณ 1/3 ของระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์  เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ล้านปี



ดาวหางยักษ์ดวงนี้ชื่อว่า  Siding Spring มีนิวเคลียสหรือแกนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 -5 ไมล์  (0.8 - 8 กิโลเมตร)  ลักษณะพิเศษของดาวหาง Siding Spring ก็คือการโคจรเฉียดดาวอังคารครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ดาวหางดวงนี้เหวี่ยงตัวเองจากขอบนอกของระบบสุริยะเข้าสู่แรงดึงดูดของดวงอาทิตย์

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า Siding Spring ก่อตัวขึ้นประมาณ 4.6 พันล้านปีก่อน ภายหลังการกำเนิดของระบบสุริยะไม่กี่ล้านปี บริเวณระหว่างดาวพฤหัสบดีกับดาวเนปจูนในปัจจุบัน ปกติวัตถุที่ก่อตัวขึ้นเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ แต่ Siding Spring เกิดชนกับดาวเคราะห์ที่ก่อตัวแล้วและถูกดีดออกไปยังขอบนอกของระบบสุริยะบริเวณที่เรียกว่าเมฆออร์ต ซึ่งเป็นเสมือนกรุรวมชิ้นส่วนเศษซากที่หลงเหลือหลังการรวมตัวกันของระบบสุริยะ

Siding Spring  สงบนิ่งอยู่ที่เมฆออร์ตหลายพันล้านปี และนักวิทยาศาสตร์คาดว่าประมาณ 1 ล้านปีก่อนมันถูกรบกวนจากการโคจรและแรงดึงดูดของดาวฤกษ์ใกล้เคียงจนเหวี่ยงตัวเองจากขอบนอกของระบบสุริยะเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นใน

นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจดาวหาง Siding Spring เป็นพิเศษเนื่องจากเชื่อว่าสภาพของดาวหางดวงนี้จะเหมือนกับที่มันเคยเป็นเมื่อ 4.6 พันล้านปีก่อนเพราะไม่เคยถูกเผาผลาญด้วยความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทำให้เราทราบถึงโครงสร้างของวัตถุที่ก่อตัวในยุคนั้นและอาจสามารถวิเคราะห์ได้ว่าดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะก่อตัวขึ้นอย่างไร

NASA  เปิดเผยว่ายานอวกาศที่โคจรอยู่รอบดวงจันทร์จากหลายๆ ประเทศได้แก่  Mars Odyssey, Mars Reconnaissance Orbiter (MRO),และ MAVEN จากสหรัฐ, Mangalyaan จากอินเดีย , Mars Express จากยุโรป. รวมถึงยาน Curiosity และ Opportunity ที่อยู่บนพื้นผิวดาวอังคารจะเก็บข้อมูลและรูปถ่ายของดาวหางอย่างละเอียด  ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับยานทั้งหมดนั้น NASA เปิดเผยว่าได้มีการป้องกันโดยการปรับวงโคจรให้ยานทั้งหมดแล้ว

หลังจากวันพรุ่งนี้ ดาวหาง Siding Spring จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 25 ตุลาคม 2014 และเคลื่อนตัวกลับไปยังเมฆออร์ต ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ NASA เปิดเผยว่าก็เป็นระยะที่ต้องจับตามองมากเช่นกันว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงกับดาวหางดวงนี้อย่างไรเมื่อเข้าสู่ชั้นในของระบบสุระยะและสัมผัสกับความร้อนจากดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก



ที่มา: http://www.space.com/27467-comet-siding-spring-mars-flyby-science.html


Post a Comment

0 Comments

Ad Code