Ad Code

Ticker

10/recent/ticker-posts

สาเหตุที่อุกกาบาตส่วนใหญ่ถูกพบในทวีปแอนตาร์กติกา

ข้อมูลจนถึงปัจจุบัน  เราค้นพบอุกกาบาตในโลกแล้วประมาณ 67,000 ลูก ในจำนวนนี้ประมาณ 42,000 ลูก (หรือ 62.7 เปอร์เซ็นต์)  ถูกค้นพบในทวีปแอนตาร์กติกา  ติดตาม สาเหตุที่อุกกาบาตส่วนใหญ่ถูกพบในทวีปแอนตาร์กติกา ครับ





พวกเราอาจจะรู้สึกว่าแปลกที่อุกกาบาตส่วนใหญ่ที่พบในโลกเราส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอนตาร์กติกา และอยู่เฉพาะในบางพื้นที่ของทวีปแอนตาร์กติกาเท่านั้น   และหลายๆ คนอาจคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับการหมุนและแกนโลก หรืออาจเกี่ยวข้องกับสนามแม่เหล็ก แต่ในความเป็นจริงสาเหตุเกิดจากสภาพแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์ของทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งทำให้มีการค้นพบอุกกาตได้ง่ายกว่าพื้นที่อื่นๆ





นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในหลายร้อยหรือพันล้านปีมีอุกกาบาตหลายพันล้านลูกตกลงมายังโลก โดยกระจัดกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ในโลก แต่สาเหตุที่เราไม่ค่อยพบอุกกาบาตเป็นเพราะ พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกปกคลุมด้วยน้ำ ส่วนอุกกาบาตที่ตกบนพื้นดินเมื่อผ่านเวลานับแสนนับล้านปีก็จะถูกสภาพแวดล้อมทำลายจนไม่เหลือสภาพดั้งเดิม

สภาพแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์และช่วยให้อุกกาบาตอยู่ในสภาพเดิมได้มากที่สุดก็คือพื้นที่แห้งแล้งจัด เช่น ทะเลทราย และทวีปแอนตาร์กติกาที่แห้งแล้งและปกคลุมด้วยน้ำแข็ง นอกจากนี้โอกาสพบอุกกาบาตในทะเลทรายและในทวีปแอนตาร์กติกาง่ายกว่าพื้นที่อื่นเนื่องจากมองเห็นได้ง่ายเมื่อเทียบกับพื้นผิว (สีน้ำตาลอ่อนจากทราย และสีขาวจากน้ำแข็ง)

ส่วนสาเหตุที่พบอุกกาบาตเฉพาะในบางพื้นที่ของทวีปแอนตาร์กติกาเป็นเพราะ อุกกาบาตที่ตกลงบนทวีปแอนตาร์กติกาจะถูกทับถมด้วยน้ำแข็งและค่อยๆ เคลื่อนตัวไปกับธารน้ำแข็ง ในที่สุดธารน้ำแข็งส่วนใหญ่จะเคลื่อนลงสู่มหาสมุทรแต่อุกกาบาตจะถูกกองสะสมไว้ด้วยกัน ในเวลาเดียวกันลมแรงจัดที่ขั้วโลกจะกัดเซาะน้ำแข็งที่ปกคลุมอยู่เผยให้เห็นอุกกาบาตที่ฝังอยู่ใต้พื้นน้ำแข็ง 

Image Credit: Wikimedia


สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องทำในการค้นหาอุกกาบาตในทวีปแอนตาร์กติกาคือมองหาน้ำแข็งสีน้ำเงินเมื่อต้องแสงแดด (แสงสะท้อนจากอุกกาบาตใต้น้ำแข็ง) ซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะในบางพื้นที่ของทวีปแอนตาร์กติกาเท่านั้น

ในแต่ละปีนักวิทยาศาสตร์พบอุกกาบาตในทวีปแอนตาร์กติกาประมาณ 1 พันลูก ซึ่งเชื่อว่าอุกกาบาตที่พบแล้วเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น โดยคิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ของอุกกาบาตที่อยู่ในทวีปซี่งปกคลุมด้วยน้ำแข็งมาชั่วนาตาปีแห่งนี้


ที่มา:  MinuteEarth

Post a Comment

0 Comments

Ad Code